เยี่ยมกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านบ่อหว้า…กาญจนบุรี 3 ปี กับการรวมพลังสู่การผลิตเมล่อนคุณภาพส่งแม็คโคร

เยี่ยมกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านบ่อหว้า…กาญจนบุรี
3 ปี กับการรวมพลังสู่การผลิตเมล่อนคุณภาพส่งแม็คโคร

แม้จะเป็นพืชเกษตรที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าตลาดเมล่อนมีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมมาก หลังจากที่หลายพื้นที่เกษตรกรหันมาปลูกเมล่อนกันมากขึ้น จนทำให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดกันมากขึ้น โดยแหล่งปลูกเมล่อนขึ้นชื่อและมีการปลูกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือ จ.กาญจนบุรี โดย บริษัท เจียไต๋ จำกัด เป็นบริษัทแรกๆที่มีการปลูกเพื่อเปิดตลาดในพื้นที่และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแล้วรับซื้อผลผลิตคืน วันนี้ตลอดสองข้างทางของถนนหลายสายในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี จะมีการจำหน่ายเมล่อนกันอย่างมากมาย กลายเป็นพืชที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่ดีให้กับชาวบ้านทั้งคนปลูกและคนขาย
ส่งเสริมชาวบ้านปลูกเมล่อน...
ผลักดันการผลิตเมล่อนคุณภาพป้อนตลาดบน




วันนี้เราจะไปดูการปลูกเมล่อนของกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านบ่อหว้า ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี กลุ่มผู้ปลูกเมล่อนที่เกิดจากความตั้งใจที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านให้ดีขึ้นของผู้นำชุมชน อย่าง ผู้ใหญ่เอนก มาบุญ เจ้าของเฟส ผู้ใหญ่ บ้านนอก ที่คนรักเมล่อนทั้งหลายติดตามกันนั่นเอง ผู้ใหญ่เล่าว่าเดิมทีชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังกันมาเกือบจะทั้งชีวิต จนกระทั่งมีลูกบ้านคนหนึ่งได้ไปเข้าร่วมโครงการปลูกเมล่อนกับเจียไต๋ ที่ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และกลับมาปลูกที่นี่ ผู้ใหญ่เห็นว่าเมล่อนเป็นพืชที่สร้างรายได้ดี ใช้เครื่องมือการเกษตรและ ใช้พื้นที่น้อยและให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง จึงชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันปลูก โดยตั้งกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านบ่อหว้าขึ้น เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากการนำของผู้ใหญ่ที่ทำเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านและเป็นที่ปรึกษาและแนะนำลูกบ้านอย่างใกล้ชิด ทำให้วันนี้ผลผลิตเมล่อนของกลุ่มสามารถเข้าสู่ตลาดระดับบน โดยมีออเดอร์สั่งซื้อจากแม็คโครอย่างต่อเนื่อง วันนี้แม้สมาชิกยังไม่มากเพียง 20 กว่าคน แต่ก็เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพและผู้ใหญ่ก็พยายามที่จะผลักดันให้ทุกแปลงได้รับมาตรฐาน GAP อันจะเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่การขยายตลาดระดับบนได้ง่ายขึ้น ซึ่งการผลิตเมล่อนคุณภาพนั้นผู้ใหญ่บอกว่า จะต้องปลูกในปริมาณต้นที่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพมากที่สุด จึงจำกัดพื้นที่การปลูกให้ลูกบ้านแต่ละคนไม่เกิน 4,000 ต้น และจะมีการวางแผนการผลิตให้สมาชิกเพาะเมล็ดทุกอาทิตย์ๆละ 3,000-4,000 ต้น ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ทุกอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง

ความคิดเห็น