- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
เครื่องต้นแบบตรวจคุณภาพไหม ยกระดับคุณภาพการผลิตผ้าไหมไทย
นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการตรวจวัดคุณภาพของเส้นไหมในประเทศไทยใช้วิธีการสุ่มเส้นไหมและใช้การจำแนกคุณภาพด้วยสายตา ที่เน้นการสังเกตที่ปริมาณของปุ่มปม สิ่งปลอมปน ขนาดของเส้นไหม แล้วให้คะแนนก่อนจะแบ่งเกรด ซึ่งวิธีการจัดชั้นคุณภาพด้วยสายตามีข้อจำกัด คือ 1.ต้องใช้เวลามาก 2.มาตรฐานในการจัดขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และความชำนาญของแต่ละบุคคล 3.เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติงานได้สูง 4.ขาดอัตรากำลังที่จะดำเนินการ 5.ผลการจัดชั้นคุณภาพอาจไม่เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ทำให้อาจเกิดข้อโต้แย้งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ดังนั้น กรมหม่อนไหม จึงร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) หรือ เนคเทค วิจัยพัฒนาวิธีการตรวจความสม่ำเสมอของเส้นไหมด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อศึกษาพัฒนาต้นแบบเครื่องมือ อุปกรณ์ในการตรวจสอบจัดชั้นคุณภาพเส้นไหมไทยที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์การจัดชั้นคุณภาพเส้นไหมไทย และกำหนดค่ามาตรฐานการจัดชั้นคุณภาพมาตรฐานเส้นไหมไทยจากเครื่องต้นแบบ
ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้ได้เครื่องมือต้นแบบเพื่อจัดชั้นคุณภาพมาตรฐานเส้นไหมไทยซึ่งนับเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย โดยการจัดทำเครื่องต้นแบบเพื่อจัดชั้นคุณภาพมาตรฐานเส้นไหมไทยครั้งนี้จะทำให้การตรวจสอบชั้นคุณภาพรวดเร็ว แม่นยำและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทำให้การรับรองมาตรฐานเส้นไหมไทยขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างระบบคุณภาพมาตรฐานการผลิตให้แก่สินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เส้นไหมไทยที่รับรองโดยหน่วยงานที่เป็นกลางเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้ความต้องการเส้นไหมไทยเพิ่มสูงขึ้น และราคาเส้นไหมไทยที่เกษตรกรจำหน่ายได้มีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตผ้าไหมไทยหัตถกรรมให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 อีกด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น